ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนในเขตพื้นที่สูง กำลังเป็นที่ห่วงใยของทุกฝ่ายตั้งแต่มิติของโอกาสทางการศึกษา การได้รับการฝึกอบรมเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเตรียมกำลังคนเป็นกำลังสำคัญเพื่อการพัฒนาชาติในอนาคต เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพต่อไป (UNICEF, 2005) อย่างไรก็ตาม
... [Show full abstract] แม้ว่าสภาพเชิงประจักษ์จะพบกับความเหลื่อมล้ำของบริบทสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศที่สร้างความยากลำบากในการเข้าสู่การศึกษาภาคบังคับในระบบ แต่ฝ่ายจัดการศึกษาต่างได้มีความพยายามในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ร่วมกับการปฏิรูปการศึกษาเพื่อให้เกิดความเสมอภาค ความเท่าเทียม แม้ว่าจะเผชิญกับข้อจำกัดในหลายประการก็ตาม จึงมีความเพียรพยายามของคณะทำงานที่ได้ริเริ่มร่วมมือในการทำงานด้านการปฏิรูปการศึกษาภายใต้โครงการนำร่องเวทีขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อพลิกฟื้นวิกฤตความเหลื่อมล้ำถือเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญเร่งด่วน แม้ว่าจะมีความพยายามในแก้ไขปัญหามาโดยตลอด แต่ความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองและชนบท ดูเหมือนว่าจะมีช่องว่างระหว่างกันมากยิ่งขึ้น “โรงเรียนพื้นที่สูง” ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่จำนวนมากกว่า 200 แห่งในสังกัดต่าง ๆ ยังคงมีความต้องการการหนุนเสริมพัฒนาทั้งระบบเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในการพัฒนาเด็กและเยาวชน คุณภาพชีวิตของครอบครัวและชุมชน เพื่อจะเป็นกำลังสำคัญเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป อย่างไรก็ตาม พื้นที่ด้อยโอกาสในเขตพื้นที่สูง มีข้อจำกัดและปัจจัยเงื่อนไขหลายประการ ซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา และป้องกันปัญหารอบด้านอาจจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเยาวชนไทยเพื่อเป็นพลเมืองไทย 4.0 ตามแนวทางรัฐบาล มิติการพัฒนาทั้งระบบตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ Sustainable Development Goals หรือ SDGs 1-17 จากผลการหารือของคณะทำงาน จึงได้มีการกำหนดข้อตกลงร่วมใน 7 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การแก้ไขปัญหาการอ่านออกเขียนได้ ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านการส่งเสริมอาชีพ ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการพัฒนาทักษะชีวิตเด็กและเยาวชน ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการส่งเสริมความก้าวหน้าของผู้บริหารและครูในแต่ละท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้านสิ่งสนับสนุน ด้านสิ่งก่อสร้างเพื่อพัฒนาสุขอนามัยและอื่น ๆ เช่น ระบบน้ำสะอาด วัสดุส่งเสริมสุขอนามัยหรือตามความจำเป็นอื่น และ ยุทธศาสตร์ที่ 7 ด้านเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นการระดมสรรพกำลังร่วมกันหนุนเสริมการดำเนินงานทั้งระบบ (เอกสารประกอบการประชุมโครงการปฏิรูปการศึกษาเชียงใหม่ในเขตพื้นที่สูงทั้งระบบ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนด้วยพหุวิทยาการ, 2561)
สภาพบริบทของเด็กและเยาวชนที่เตรียมเป็นแกนนำสำคัญต่อการพัฒนาชุนชน สังคมและประเทศชาติ ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างจากปัจจัยแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกชุมชนย่อมเกิดผลกระทบต่อการเบี่ยงเบนพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนขึ้นได้ จากสภาพครอบครัวไทยจากครอบครัวขนาดใหญ่ที่อยู่ร่วมกัน ค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนเป็นครอบครัวเดี่ยวที่พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องทำงานหาเลี้ยงชีพเพื่อการเอาตัวรอดในสภาพเศรษฐกิจสังคม นอกจากนั้น อาจมีปัญหาสืบเนื่องมาจากการใช้ภาษาถิ่นในหลายพื้นที่ที่เกิดความยากลำบากในการสื่อสารระหว่างกัน ทำให้เกิดอุปสรรคในแง่ของการติดต่อสื่อสาร
การจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตที่ดีจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง อาทิ การเข้าใจตนเองและผู้อื่น การยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล การมีคุณธรรมจริยธรรมอันดีงาม มีทักษะในการสื่อสาร มีความกล้าแสดงออกที่เหมาะสมในทางที่ถูกที่ควร มีความคิดสร้างสรรค์ และมีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ที่กล่าวมาเบื้องต้นนี้ ล้วนเป็นทักษะชีวิตพื้นฐานที่จะเป็นแนวทางให้เด็กและเยาวชนมีภูมิคุ้มกันทางสังคมที่เข้มแข็งและมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงตามพัฒนาการในช่วงวัยรุ่นและมีพฤติกรรมในทางที่ดีได้ (WHO: World Health Organization, 1994, 1999, 2009) นอกจากนั้น การที่เด็กและเยาวชนมีทักษะชีวิตที่ดีนั้นจะช่วยให้มีการพัฒนาและเพิ่มพูนอำนาจของบุคคลที่ช่วยให้มีความรับผิดชอบตัวเองได้ และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้สร้างเกราะที่ดีในการป้องกันตนเองในภาวะวิกฤตทำให้สามารถเผชิญกับแรงกดดันและความท้าทายต่าง ๆ จากกลุ่มเพื่อน ครอบครัว และสังคมเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเยาวชนจำเป็นต้องได้รับการเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อให้สามารถเผชิญหน้าได้กับความท้าทายใหม่ในหลากหลายรูปแบบและรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด, 2559)